‘ปิง-ศศินันท์ ศิริมหัทธโน’
นักวาดภาพประกอบและนักเขียนการ์ตูนอิสระคนล่าสุดประจำคอลัมน์ Artist on our radar อาทิตย์นี้ ก็คงจะเป็นคำว่า ‘ร่างบาง’ ที่ชวนให้นึกถึงการ์ตูนตาหวานของญี่ปุ่นในยุคเก่า ๆ ที่มักจะออกแบบตัวละครให้มีรูปร่างเพรียวบางกับแฟชันที่ดูกรุยกรายทั้งชายหญิง แต่นั่นไม่ใช่เอกลักษณ์เดียวที่เราสัมผัสได้จากงานของปิง เพราะศิลปินยังใส่เรื่องราวความเควียร์กับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการสำรวจอัตลักษณ์ของตัวเองและคนรอบข้างลงไปในงานของตัวเองด้วย
“เราเริ่มต้นวาดรูปเพราะความชอบในการ์ตูนญี่ปุ่นและอาจจะเป็นเพราะเหตุผลนั้นเราเลยถูกดึงดูดด้วยการใช้เส้นและรูปร่างคนเป็นหลัก จริง ๆ ก่อนหน้านี้เราก็เคยลองทำงานมาหลาย ๆ แบบ แต่กลายเป็นว่างานลายเส้นได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีและตัวเราก็ชอบกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานแนวนี้ด้วย” ปิงเริ่มเล่าให้เราค่อย ๆ เข้าใจถึงจุดเริ่มต้นการทำงานของตัวเอง
.
“การทำงานส่วนใหญ่ของเรามักจะทำงานในรูปแบบดิจิทัลและพรินต์ออกมาเป็นริโซกราฟ (risograph) เพราะการทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบต้องทำงานเร็ว แต่เราเป็นคนทำงานค่อนข้างช้า การใช้ดิจิทัลจึงช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น แต่ถึงจะเป็นงานดิจิทัล เราก็ยังเน้นการตัดเส้นอยู่ จึงต้องฝึกตัดเส้นเพื่อให้ภาพออกมาสมบูรณ์ บางครั้งก็ต้องฝึกวาดสิ่งที่ไม่ถนัด แต่ยิ่งวาดบ่อย ๆ ก็ยิ่งง่ายขึ้น นอกจากนี้ การเลือกสีในงานก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่ง เราจึงต้องฝึกการวางคอมโพสิชันและการใช้สีเพื่อให้ภาพน่าสนใจ อย่างช่วงนี้เราก็เริ่มสนใจภาพวาดวินเทจที่ใช้สีแบบเรียบ ๆ ไม่มีแสงเงา แต่เน้นฟอร์มและเส้นเพื่อดึงความสนใจ จึงหางานใหม่ ๆ มาศึกษาการวางองค์ประกอบและการใช้สีอยู่เสมอเลย”
นอกจากเรื่องเทคนิคในการทำงาน ปิงยังเล่าถึงความหมายเบื้องหลังของภาพต่าง ๆ ด้วยว่า “ภาพที่เราวาดยังสะท้อนความสนใจส่วนใหญ่ของเราด้วย โดยเฉพาะแนวคิดแบบเหนือจริง (Surrealism) ที่เรานำความฝัน หรือสิ่งที่อยู่ในจิตสำนึกออกมาวาดเป็นภาพ เรารู้สึกว่าในหลายครั้งมีเรื่องราวหรือความรู้สึกที่ไม่สามารถเล่าออกมาผ่านคำพูดได้ทั้งหมด และเพราะเหตุนี้ก็เลยทำให้มีความชอบในการเล่าเรื่องราวผ่านคอมมิค (การ์ตูน) ที่รวมความชอบในการเขียนและวาดของเราเข้าด้วยกัน”
“งานของเราในช่วงนี้เลยมักจะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย ตัวตน และสังคม ซึ่งเรามักจะสื่อสารผ่านภาพเหนือจริงหรือแก่นเรื่องซ้ำ ๆ เช่น ดอกไม้และความแฟนตาซีในดีไซน์ของตัวละคร ซึ่งสิ่งที่เราสนใจเสมอในการสร้างงานขึ้นมา ก็คือการพยายามค้นหาและเข้าใจถึงตัวตนของเราและที่ทางของเราในสังคมว่า ทำไมเราถึงชอบในสิ่งที่ชอบ ทำไมเราถึงรู้สึกแปลกแยกในบางความคิดกระแสหลัก อะไรที่ส่วนประกอบที่ทำให้เรากลายเป็นเรา และเราอยู่ตรงไหนในแง่ของวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่”
“ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคิดแบบนี้ อาจจะเป็นเพราะเราเสพสื่อของชาติตะวันตกค่อนข้างเยอะ ก็เลยทำให้ค่อนข้างตั้งคำถามเกี่ยวกับความขัดแย้งของการเกิดและเติบโตในวัฒนธรรมกระแสรองอย่างเช่นไทย นอกจากเรื่องนี้แล้วเรายังสนใจในประเด็นของ lgbtq+ ด้วยความที่เรารู้สึกว่าตัวเองไม่อยู่ในกรอบสองเพศ งานหลายงานเลยจะเป็นการพยายามสะท้อนความเป็นเควียร์ในตัวตนเรา เหมือนกับว่าภาพหรือเรื่องราวที่เราเขียนเป็นวิธีการในการเข้าใจในด้านจิตใจซึ่งเป็นองค์ความรู้มักหาได้ยากในบทเรียน” ปิงอธิบายถึงที่มาความคิดต่าง ๆ ของตัวเองอย่างตั้งใจ
พอได้คุยกันไปสักพัก เราก็ยังเห็นอีกว่าปิงได้มีโอกาสส่งงานของตัวเองเข้าร่วมงาน Philippine international comics festival 2024 (Picof 2024) หรือเทศกาลคอมมิคนานาชาติด้วย เราเลยขอให้เธอช่วยเล่าถึงประสบการณ์ในการเข้าร่วมงานนี้หน่อย
ปิงเล่า “จุดเริ่มต้นที่เราได้ร่วมงาน Picof 2024 มาจากที่งานเปิดรับคอมมิคจากนักเขียน South East Asia บนเฟสบุ๊กเมื่อประมาณสองปีก่อน โดยได้รางวัลเป็นเงิน เราเลยลองเขียนส่งไปดูเพราะคิดว่าน่าสนใจ ช่วงที่เขียนเป็นช่วงที่เราตั้งคำถามเกี่ยวกับความไทยที่ถูกเล่าในสื่อกับประสบการณ์ของเราที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่จุดไหนในภาพนั้น จนออกมาเป็น Zine ที่ชื่อว่า ‘Before the Curtain Calls’ ที่เล่าถึงไอเดียความเป็นหญิงไทยกับความขัดแย้งในความจริงที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่โควิดยังระบาดเลยไม่ได้มีงานในสถานที่จริง จนทางทีม Picof เพิ่งได้มาจัดในปีนี้เอง เขาก็ให้ตัวเลือกอีกรางวัลเป็นการไปออกบูธที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเราก็ตอบตกลงตัวเลือกนั้นไป”
“งาน Zine ของเราก็จะค่อนข้างแตกต่างจาก Zine อื่น ๆ นิดหน่อยตรงที่จะเป็นการเล่าเรื่องราวผ่านคอมมิค เราค่อนข้างเชื่อว่างานที่เล่าเรื่องราวแบบการ์ตูนสามารถเป็นได้มากกว่าความบันเทิงสำหรับเด็กหรือวัยรุ่น แต่ยังสามารถเล่าเรื่องที่ยากและเป็นผู้ใหญ่ได้ด้วย ดังนั้นความเหนื่อยของการทำ zine จะมาจากการกระบวนการของการเขียนคอมมิคที่ต้องวาดรูปเยอะ รวมไปถึงการต้องใช้ทักษะของการเล่าเรื่องราวซึ่งจำเป็นต้องทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกอินไปกับตัวละครและเรื่องราวของเรา”
ปิงยังแชร์ถึงความท้าทายในฐานะคนทำคอมมิคให้เป็น Zine ด้วยว่า “สำหรับเราการทำ Zine นั้นเหนื่อยและต้องลงแรงเยอะกว่าการวาดภาพเป็นชิ้น ๆ มาก เพราะภาพเป็นชิ้น ๆ จะโฟกัสไปยังภาพเดี่ยวที่มีธีมหลัก แต่ zine นั้นไม่ใช่ นอกจากนี้เราเองก็อยากให้คนที่ได้ zine ของเราไปอ่านรู้สึกว่าอ่านแล้วได้อะไรจากงาน ดังนั้นการโฟกัสกับการเขียนจึงมีความสำคัญพอ ๆ กับด้านภาพเลย แต่ส่วนตัวที่เราเลือกจะทำ zine รูปแบบนี้ก็อาจจะเป็นเพราะว่าเราชอบมีเดียมของคอมมิคเองด้วย และอยากจะผสมความชอบของการวาดภาพประกอบและเล่าเรื่องเข้าด้วยกัน”
“ในแง่ของการพรินต์ผลงานเราโชคดีที่ zine เรื่อง Before the Curtain Calls ได้ทางสูติดิโอ Two in Row ช่วยพิมพ์และเย็บหนังสือให้ ทำให้ภาพออกมาได้สวยงามมาก ๆ แต่นอกจากนั้นแล้วเราค่อนข้างเชื่อในการทำ zine คอมมิคที่ราคาพอจับต้องได้เพราะเราอยากให้มีคนอ่านเรื่องราวของเรามากกว่า ดังนั้นหลักการในการวางขายจึงใช้การเย็บและจัดวางหนังสือที่ค่อนข้างง่าย แล้วแต่ว่างานเล่มนั้นทำไว้เพื่อสะสมเป็นงานศิลปะหรือไม่”
“ในอนาคตเราก็อยากจะลองทำภาพประกอบ และ zine ต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งก็อยากลองทำงานพรินต์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและโฟกัสไปที่งานภาพและการใช้กระดาษ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะลองเขียนคอมมิคที่ท้าทายตัวเองในแง่ของเรื่องราวที่มีความยาวมากขึ้นซึ่งไม่เคยทำมาก่อน และหากเป็นไปได้ก็อยากแปลงานของตัวเองเป็นภาษาไทยและทำออกมาเป็นหนังสือกับสำนักพิมพ์จริงจังเหมือนกัน”
“โดยรวม ๆ แล้วเราคิดว่าอยากจะพัฒนาฝีมือและภาษาภาพของตัวเราเองให้มีความละเอียดและกลมกล่อมขึ้นมากกว่าเดิม เพราะรู้สึกว่าการเป็นนักวาดภาพประกอบยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะเลย”
Credit : บงกชกร คำปุ๊ก
Leave a Comment
Your email address will not be published. Required fields are marked *
You must be logged in to post a comment.